top of page

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกลุ่มเห็ดตับเต่า (Boletes)



📌🍄 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดสูง โดยมีหลักฐานการค้นพบเห็ดสายพันธุ์ใหม่ของโลกอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในกลุ่มเห็ดที่เป็นกลุ่มใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีบทบาทสำคัญทางนิเวศน์วิทยากับพันธุ์ไม้ป่าหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเห็ดตับเต่า (Boletes) เห็ดตับเต่าหลายชนิดเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งเห็ดตับเต่าเป็นชื่อที่มักใช้เรียกเห็ดที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์หรือสปอร์ภายในโครงสร้างที่คล้ายท่อเล็กๆ (Tube) หรือรู (Pore) อยู่ใต้ดอกเห็ด (Pileus) ซึ่งโครงสร้างที่คล้ายท่อนี้สามารถแยกออกจากดอกเห็ดได้ เมื่อดอกเห็ดโตเต็มวัย เนื้อสัมผัสจะนิ่มคล้ายฟองน้ำ และมักสร้างสปอร์สีน้ำตาลหรือเขียวมะกอก เดิมทีในอดีตเห็ดตับเต่า หรือ Boletes ส่วนใหญ่ถูกจัดจำแนกอยู่เพียงสกุลเดียวคือ Boletus เนื่องจากการศึกษาในยุคนั้นอาศัยเพียงหลักฐานข้อมูลลักษณะสัณฐานวิทยาเพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันการศึกษาอนุกรมวิธานโดยใช้หลักฐานข้อมูลสารพันธุกรรมส่งผลให้เกิดการตั้งชื่อสกุลใหม่สำหรับเห็ดตับเต่าหลากหลายกลุ่ม และหนึ่งในนั้นก็คือสกุล Sutorius (Halling et al. 2012) ในตอนนั้นเห็ดสกุล Sutorius เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ มีอยู่เพียง 2 สปีชีส์ เป็นสกุลที่มีลักษณะสัณฐานวิทยาที่จดจำได้ง่ายได้แก่ ดอกเห็ดสีน้ำตาลช็อคโกแลต หรือน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลอมม่วง ผิวก้านดอกมีเกล็ดขนาดเล็ก และสร้างรอยพิมพ์สปอร์สีน้ำตาลแดง เห็ดสกุลนี้มีชื่อสามัญภาษาไทยคือ เห็ดผึ้งข้าวก่ำ เห็ดผึ้งดำ หรือเห็ดผึ้งอีดำ เนื่องจากเมื่อปรุงสุกแล้วดอกเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มถึงดำอมม่วง ล่าสุดงานวิจัยของ Vadthanarat et al. (2021) แสดงผลงานวิจัยที่สำคัญว่า แท้จริงแล้วเห็ดกลุ่มนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ขณะที่ Tylopilus maculatoides ได้ถูกจัดจำแนกใหม่ให้อยู่ในสกุล Sutorius นี้ด้วย ผู้แต่งรายงานเห็ดชนิดใหม่ของโลก 7 สปีชีส์ โดยค้นพบที่จังหวัดเชียงใหม่และอุบลราชธานี ได้แก่ Sutorius mucosus, Sutorius obscuripellis, Sutorius pachypus, Sutorius pseudotylopilus, Sutorius rubinus, Sutorius ubonensis และ Sutorius vellingae โดยจากจำนวนทั้งหมด 11 สปีชีส์ที่พบทั่วโลก มี 8 สปีชีส์ที่พบได้ในประเทศไทย และอีก 3 สปีชีส์พบในประเทศออสเตรเลีย จีน และสหรัฐอเมริกา โดยในปัจจุบันมีเพียงสปีชีส์เดียวที่มีข้อมูลว่าสามารถรับประทานได้คือ Sutorius ubonensis ซึ่งนิยมบริโภคกันในแถบจังหวัดอุบลราชธานี

📝 เขียนและเรียบเรียง: คมสิทธิ์ วิศิษฐ์รัศมีวงศ์ 📸 รูปภาพ: สัณฐิติ วัฒนราษฎร์ 📚 แหล่งข้อมูล - Halling R.E., Nuhn M., Fechner N.A., Osmundson T.W., Soytong K., Arora D., Hibbett D.S., Binder M. (2012). Sutorius: a new genus for Boletus eximius. Mycologia 104(4): 951-961. - Vadthanarat S., Halling R.E., Amalfi M., Lumyong S., Raspe O. (2021). An unexpectedly high number of new Sutorius (Boletaceae) species from Northern and Northeastern Thailand. Frontier in Mocrobiology doi: 10.3389/fmicb.2021.643505.

23 views0 comments

Comentarios


bottom of page